ความพยายามที่ผ่านมาในการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ

Release Date : 21-10-2015 00:00:00
ความพยายามที่ผ่านมาในการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ

    ความพยายามที่ผ่านมาในการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ

 

 ในช่วงนี้กระแสข่าวเรื่องโครงการเรือดำน้ำครั้งใหม่ของกองทัพเรือกำลังมาแรงครับ ทั้งที่่ยังอยู่แค่ในขั้นเตรียมการ และยังไม่ได้มีการเสนอโครงการอย่างเป็นทางการ (กำลังจะเสนอเร็วๆ นี้) ซึ่งข่าวที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปก็มีทั้งจริงบ้าง เกินจริงบ้าง และไม่จริงบ้าง บทความนี้จึงขอเล่าความเป็นมาของความพยายามที่ผ่านมาในการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวคิดการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเรือดำน้ำที่ผ่านมา ตลอดจนความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำครับ

 

กองทัพเรือได้เริ่มความสนใจในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  ตามเอกสารโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453 ซึ่งได้จัดทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในเอกสารนั้นกำหนดให้มีเรือ ส. (สับมะรีน หรือเรือดำน้ำ) จำนวน 6 ลำ และต่อมาในปี พ.ศ.2458 นายเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ได้ทรงจัดทำเอกสารรายงานความเห็นเรื่องเรือ ส. ระบุถึงข้อมูลแนวทางการจัดหาเรือดำน้ำ การใช้งานเรือดำน้ำสำหรับประเทศไทย และสิ่งสนับสนุนต่างๆ โดยละเอียด 

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

   จนกระทั่งเป็นเวลาอีก 20 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2478  กองทัพเรือจึงสามารถจัดหาเรือดำน้ำได้เป็นครั้งแรก และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 อนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 6 ลำ ซึ่งในขั้นแรกกองทัพเรือได้จัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 4 ลำ จากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ร.ล.มัจฉาณุ  ร.ล.วิรุณ  ร.ล.สินสมุทร  และ ร.ล.พลายชุมพล ส่วนเรือดำน้ำอีก 2 ลำที่เหลือไม่มีการจัดหา เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นก่อน

 

เรือดำน้ำชุด ร.ล.มัจฉาณุ เมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว

 

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ปฏิบัติราชการทั้งในสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและไม่สามารถสนับสนุนอะไหล่ในการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำของไทยได้ ประกอบกับภายหลังเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ.2494 ทำให้กองทัพเรือถูกปรับลดโครงสร้างและได้ยุบหมวดเรือดำน้ำลงเมื่อ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2494 ก่อนที่จะปลดระวางประจำการเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ เมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494

 

อย่างไรก็ดี เรือดำน้ำยังคงอยู่ในความสนใจของกองทัพเรือเรื่อยมา เนื่องจากเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำ เปรียบเสมือนอาวุธลับจำนวนน้อยที่สามารถคานอำนาจกับกำลังขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากการค้นหาและต่อต้านเรือดำน้ำจำนวนไม่กี่ลำ จะต้องใช้ความพยายามและระดมทรัพยากรเรือและอากาศยานจำนวนมาก เรือดำน้ำจึงนับว่าเป็นอาวุธที่มีความคุ้มค่าสูง โดยความพยายามจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือได้เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2528  กองทัพเรือได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการจัดตั้งหน่วยเรือดำน้ำ โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธาน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2533 กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติหลักการให้กองทัพเรือจัดตั้ง "กองเรือดำน้ำ" ในโครงสร้างของกองเรือยุทธการ และได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมจัดตั้งกองเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยเป็นเพียงโครงสร้างการจัดหน่วย แต่ยังไม่มีการเปิดอัตราบรรจุกำลังพล

 

 

เรือดำน้ำชั้น Gotland (A-19) ของสวีเดน

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2537 กองทัพเรือได้เสนอโครงการเรือดำน้ำ ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นการจัดหาเรือดำน้ำใหม่จำนวน 2 ลำ วงเงินจำนวน 17,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นไป โดยแบบเรือดำน้ำที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนั้นคือเรือดำน้ำชั้น Gotland (A19) ของบริษัท Kockums ประเทศสวีเดน เป็นเรือดำน้ำติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP ซึ่งนับว่าทันสมัยมากในสมัยนั้น แต่โครงการถูกโจมตีเรื่องการใช้งบประมาณที่สูงมาก รวมทั้งความโปร่งใสของรัฐบาลของนายบรรหาร ในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีการโจมตีเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณเสริมสร้างกำลังรบของกองทัพเรือ ซึ่งเพิ่งจะจัดหาเรือรบจำนวนหลายลำ ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร, เรือฟริเกตชุด ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, เรือฟริเกตชุด ร.ล.นเรศวร, เรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา และ ร.ล.สิมิลัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา

 

 

นอกจากนี้มีข้อสังเกตอีกประการว่าโครงการเรือดำน้ำของกองทัพเรือเมื่อปี พ.ศ.2537 เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น Challenger จำนวน 4 ลำของ ทร.สิงคโปร์ ในช่วงปี พ.ศ.2538-2540 จากสวีเดนเช่นเดียวกัน โดย ทร.สิงคโปร์ ขึ้นระวางประจำการเรือดำน้ำชั้น Challenger ครบ 4 ลำ เมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่งหากโครงการของกองทัพเรือประสบความสำเร็จในครั้งนั้น เราก็จะมีเรือดำน้ำที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาเกือบ 20 ปี

 

เรือดำน้ำชั้น Challenger ของสิงคโปร์

 

หลังจากโครงการเรือดำน้ำ พ.ศ.2537 ล้มเหลวไป กองทัพเรือได้เริ่มโครงการเรือดำน้ำอีกครั้งในปี พ.ศ.2544 โดยในครั้งนั้นได้ปรับเป็นการจัดหาเรือดำน้ำมือสองที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว วงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อลดภาระด้านงบประมาณหลังจากที่โครงการก่อนหน้าถูกโจมตีเรื่องงบประมาณที่สูงมาก โดยในครั้งนั้นกองทัพเรือได้ให้ความสนใจเรือดำน้ำชั้น 206 ของเยอรมนี, เรือดำน้ำชั้น Zwaardvis ของประเทศเนเธอร์แลนด์ และเรือดำน้ำชั้น Gal ของประเทศอิสราเอล แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของกระทรวงกลาโหม โดยให้กองทัพเรือชะลอโครงการไปก่อน

 

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือโครงการเรือดำน้ำของกองทัพเรือเมื่อปี พ.ศ.2544 เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ ทร.มาเลเซีย ได้ทำสัญญาจัดหาเรือดำน้ำชั้น Scorpene จำนวน 2 ลำ จากบริษัท DCNS ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2545

 

 

เรือดำน้ำชั้น Scorpene ของมาเลเซีย

 

ในปี พ.ศ.2552 กองทัพเรือได้อนุมัติจัดตั้ง "สำนักงานกองเรือดำน้ำ" เพื่อศึกษาข้อมูลเตรียมการสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ โดยตั้งเป้าว่าจะเสนอโครงการอีกครั้งในปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี เอกสารโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453 ซึ่งเป็นความพยายามเริ่มโครงการเรือดำน้ำครั้งแรกของกองทัพเรือ

 

 

ในขณะเดียวกัน (แต่ไม่เกี่ยวกัน) ทร.เวียดนาม ก็ทำสัญญาจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo จำนวน 6 ลำ จากรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ.2552 ปีเดียวกับที่กองทัพเรือตั้งสำนักงานกองเรือดำน้ำ

 

เรือดำน้ำชั้น Kilo ของเวียดนาม

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2553 กองทัพเรือได้เสนอโครงการเรือดำน้ำอีกครั้ง เป็นการจัดหาเรือดำน้ำใหม่จำนวน 2-3 ลำ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก วงเงิน 48,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะที่โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาในช่วงกลางปี พ.ศ.2553 ทร.เยอรมนี ได้ประกาศปลดระวางประจำการเรือดำน้ำชั้น 206A ก่อนกำหนด จำนวน 6 ลำ เนื่องจากต้องการลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมกำลังพลและการสนับสนุนเรือดำน้ำเพียงแบบเดียวใน ทร.เยอรมนี คือเรือดำน้ำชั้น 212A และยินดีขายเรือดำน้ำชั้น 206A พร้อมเครื่องฝึก อะไหล่ อาวุธ และอุปกรณ์ทั้งหมดให้กับประเทศที่สนใจ กองทัพเรือจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้จัดหาเรือดำน้ำพร้อมใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดในวงเงินที่ต่ำมาก จึงได้ขอเปลี่ยนแปลงโครงการเรือดำน้ำเป็นการจัดหาเรือดำน้ำมือสองที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจำนวน 6 ลำ ประกอบด้วยเรือพร้อมใช้ 4 ลำ และอะไหล่สำรอง 2 ลำ พร้อมเครื่องฝึก อะไหล่ อาวุธ และอุปกรณ์สนับสนุนทั้งหมด โดยลดวงเงินจาก 48,000 ล้านบาท เหลือเพียง 7,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการเริ่มเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเรือดำน้ำในขั้นต้น และมีแผนจะจัดหาเรือดำน้ำใหม่ต่อไปในอนาคตเมื่อมีความมั่นใจจากการสะสมประสบการณ์กับเรือดำน้ำชั้น 206A แล้ว

 

 

อย่างไรก็ดี โครงการเรือดำน้ำ 206A ถูกโจมตีอย่างหนักจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ทั้งในเรื่องอายุการใช้งาน ความน่าเชื่อถือ และความคุ้มค่า (ทั้งที่เป็นโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้วที่จะมีประเทศที่ปลดระวางประจำการเรือพร้อมใช้ก่อนกำหนดและเสนอขายในราคาต่ำแบบไม่คิดกำไร) รวมทั้งกระทรวงกลาโหมได้ส่งเรื่องกลับให้กองทัพเรือ "พิจารณาทบทวน" โครงการอยู่หลายครั้ง จนกระทั้งพ้นกำหนดเวลาของ ทร.เยอรมนี และเรือดำน้ำชั้น 206A จำนวน ได้ถูกขายให้กับ ทร.โคลัมเบีย ซึ่งมีเรือดำน้ำชั้น 209/1200 ประจำการอยู่แล้ว (และน่าจะตอบคำถามเรื่องอายุการใช้งาน ความน่าเชื่อถือ และความคุ้มค่าได้เป็นอย่างดี)

 

พิธีรับมอบเรือดำน้ำชั้น 206A ของ ทร.โคลัมเบีย

 

นอกจากนี้ ในระหว่างการพิจารณาโครงการเรือดำน้ำชั้น 206A กองทัพเรือยังได้เตรียมความพร้อมรองรับการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการ โดยได้ขออนุมัติเปิดบรรจุอัตรากองเรือดำน้ำ ในโครงสร้างของกองเรือยุทธการ และเริ่มบรรจุกำลังพลในกองเรือดำน้ำเมื่อปี พ.ศ.2554 เพื่อทำหน้าที่เป็นกำลังพลหลักในการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำและเตรียมการรองรับโครงการเรือดำน้ำ โดยถึงแม้ว่าโครงการเรือดำน้ำชั้น 206A จะพ้นกำหนดเวลาไป แต่กองทัพเรือก็ได้เดินหน้าเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำ โดยในปี พ.ศ.2555 กองทัพเรือได้ทำสัญญาสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ พร้อมอาคารที่พักอาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งได้จัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำจากประเทศเยอรมนี และต่อมาในปี พ.ศ.2556 กองทัพเรือได้ส่งกำลังพลไปฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ณ ประเทศเยอรมนีและเกาหลีใต้ โดยในปี พ.ศ.2557 กองทัพเรือได้รับมอบเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ และทำพิธีเปิดอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าในปี พ.ศ.2553 ที่กองทัพเรือเสนอโครงการเรือดำน้ำชั้น 206A เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ ทร.อินโดนีเซีย ได้ทำสัญญาจัดหาเรือดำน้ำชั้น DSME1400 จำนวน 3 ลำ จากประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี พ.ศ.2554

 

       จากการความพยายามในการจัดหาเรือดำน้ำที่ผ่านมา และการเตรียมการในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าขณะนี้กองทัพเรือมีความพร้อมสูงสุดทั้งในด้านองค์บุคคล องค์ความรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ซึงในปี พ.ศ.2558 นี้ จะเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี การจัดทำเอกสารรายงานความเห็นเรื่องเรือ ส. โดยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นโอกาสที่กองทัพเรือจะเสนอโครงการเรือดำน้ำครั้งใหม่ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพจัดทำแผนการพัฒนาและจัดหายุทโธปกรณ์ ตามแผนพัฒนากองทัพ ประจำปีงบประมาณ 2559  โดยในส่วนของโครงการเรือดำน้ำ จะเป็นการจัดหาเรือดำน้ำใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอกระทรวงกลาโหมได้ในเร็วๆ นี้